สมองที่หลายคนชอบเข้าใจผิด ๆ มันสมองของวิเศษในตัวข

สมองที่หลายคนชอบเข้าใจผิด ๆ

สาระความรู้เรื่องสมอง

สมองที่หลายคนชอบเข้าใจผิด ๆ มันสมองของวิเศษในตัวของท่าน บางทีท่านอาจจะบ่นว่า หัว (คือสมอง)ของท่านไม่ดีสู้คนอื่นไม่ได้

หรือคงเคยพูดว่า วันนี้ทำงานมาก จนหัว (หัวสมอง) เพลียเห็นจะต้องพักเสียที มีแต่การทดลองทางการแพทย์ และจิตวิทยาบอกว่าที่คิดอย่างนี้ “…คิดผิดทั้งนั้น…” ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมันสมอง 6 ข้อซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจมันสมองของวิเศษในตัวท่าน

1. มันสมองเหนื่อย หรือเพลียกับใครไม่เป็น
คนที่ทำงานใช้ความคิดติดต่อกันนาน ๆ จะรู้สึกมึนงง เพลียทำงานช้าลงเข้าใจเอาเองว่า ใช้สมองมาก จนสมองเพลีย จึงต้องหยุดพักสมอง เมื่อได้พักแล้วก็รู้สึกแจ่มใส ทำงานได้ดีขึ้น พวกนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองเรื่องนี้พบว่าไม่จริง สมองเพลียกับใครไม่เป็นเพราะสมองไม่เหมือนกล้ามเนื้อ ไม่ได้ทำงานอย่างกล้ามเนื้อ พลังของสมองเกิดจากไฟฟ้าเคมี (Electrochemical) ในสมองมันจึงไม่เพลีย เช่นเดียวกับเราเปิดไฟห้าสิบแรงเทียนเปิดไว้นานเท่าใดมันก็สว่างอยู่เท่านั้น ถ้ามันจะดับก็ดับไปเลย อาการที่ใกล้กับความเพลียของสมองก็คือความเบื่อ อย่างเช่นเวลาท่องตำรายาก ๆ สักเล่มหนึ่ง พอดึกเข้าสักหน่อย ใจหนึ่งอยากอ่านต่อไป อีกใจหนึ่งอยากนอน เช่นนี้ทำให้ท่านหมดความตั้งใจที่จะอ่าน ดังนี้พอจะพูดได้ว่าสมองเพลีย คือหมายความว่าท่านหย่อนความตั้งใจที่จะทำงาน และไม่สามารถที่จะบังคับความคิดไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในทางอื่น

2. กำลังสมองไม่มีที่สิ้นสุด
สมองเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดจำ การคิดและความรู้สึกต่างๆ สมองประกอบด้วยตัวเซลล์ประมาณ 10 พันล้านตัวถึง 12พันล้านตัว แต่ละตัวมีเส้นใยที่เรียกว่าแอกซอน (Axon) และเดนไดรต์ (Dendrite) สำหรับให้กระแสไฟฟ้าเคมี (Electrochemical) แล่นผ่านถึงกัน การที่เราจะคิดหรือจดจำสิ่งต่าง ๆ นั้นเกิดจากการเชื่อมต่อของกระแสไฟฟ้า ในสมอง คนที่ฉลาดที่สุดก็คือคนที่สามารถใช้กำลังไฟฟ้าได้เต็มที่

3.อัตราส่วนเชาวน์ (I.Q.) นั้นที่จริงไม่ใช่ของสำคัญ
นักจิตวิทยา เช่น อัลเฟรดและบิเนต์ มีวิธีการวัดความฉลาดของคน โดยการวัดอัตราส่วนเชาวน์ หรือไอคิว แล้วกำหนดว่าคนนั้น ๆ มีไอคิวเท่านั้น ๆ ถ้าใครวัดแล้วได้ไอคิวต่ำกว่าร้อย ก็ออกจะเสียใจสักหน่อย แต่นักจิตวิทยาเขาว่าอย่าไปสนใจกับไอคิวนักเลย เพราะการทดสอบนั้นมันไม่ค่อยแน่นัก อาจทดสอบผิดพลาดได้ง่ายเท่าที่เขาค้นพบนั้น ว่าใครมีร่องยู่ยี่หยุกหยิกตอนกลางกระหม่อมมาก ๆ มักจะฉลาดกว่าคนอื่น “แต่คนที่ธรรมชาติไม่ได้สร้างสิ่งพิเศษมาให้ จะไม่มีทางฉลาดกับเขาบ้างหรือ?” นักวิทยาศาสตร์ตอบว่ามีและมีได้แน่ ๆ คนที่มีไอคิวปานกลางอาจจะเป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง มีความรู้ดีได้โดยการหมั่นฝึกตัวเซลล์ในสมอง ให้มันทำงานไม่ปล่อยให้มันขี้เกียจอยู่เฉย ๆ เขาพบว่าคนที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน มีไอคิวเท่า ๆ กับคนธรรมดา อย่างเช่น จอห์นอาดัมส์, อับราฮัม ลินคอล์น, นโปเลียน, เนลสัน เหล่านี้มีสมองธรรมดา ๆ แต่ว่าเป็นคนมีลักษณะพิเศษ  คืออุตสาหะพากเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง คนสมองดี ๆ ถ้าไม่หมั่นใช้มันก็จะฝ่อได้

4. แก่แล้วก็เรียนได้ดี เท่าหนุ่ม ๆ เหมือนกัน
ความเข้าใจผิดอย่างไม่เข้าท่า ก็คือว่ายิ่งแก่ตัวยิ่งเรียนไม่ได้ สมองเสื่อมความจำไม่ดี ถ้าเป็นคนขี้เหล้าเมายา หรือมีโรคอาจเป็นได้อย่างนั้น แต่คนปรกติแล้วย่อมเรียนได้ตลอดอายุ ความแก่ชราไม่เป็นอุปสรรคแก่การเรียน การเรียนเกี่ยวกับการให้กระแสไฟฟ้าในสมองเคลื่อนไหว ดังนั้นถ้าสมองไม่ผุพังเพราะเชื้อโรคหรือการกระทบกระเทือนอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว อายุ 90 ปี ก็ยังเรียนได้ ที่ว่าแก่ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ชื่อคนที่เคยจำได้ก็นึกไม่ออก อะไรพวกนี้ เป็นการยอมรับตัวเองทั้งสิ้น

5. กำลังสมองจะดีขึ้น ถ้าได้ใช้มันอยู่เสมอ
สมองเหมือนกับกล้ามเนื้อตรงที่การฝึก ถ้าได้ใช้ให้ทำงาน อย่าปล่อยให้มันขี้เกียจ มันจะยิ่งเก่งกล้าขึ้น ท่านยิ่งใช้ความคิด ความคิดของท่านก็จะดีขึ้น หากท่านใช้ความจำอยู่เสมอ ความจำของท่านก็จะดีขึ้นคือท่านจะจำอะไรได้เร็วขึ้น มีอำนาจอย่างหนึ่งที่เราพูดถึงกันเสมอ คืออำนาจใจหรือกำลังใจ กำลังอันนี้สะสมอยู่ในสมอง ทุกคราวที่ท่านใช้กำลังใจ หรืออำนาจใจต่อสู้อุปสรรคปัญหา หรือความยากลำบากต่าง ๆ กำลังใจของท่านก็เพิ่มพูนมีกำลังแรงขึ้น

6. จิตใต้สำนึก
คลังอันน่ามหัศจรรย์ ส่วนลี้ลับและแสนจะพิศดารในตัวของเรา คือจิตใต้สำนึก หรือบางทีเรียกว่า จิตไร้สำนึก มันเป็นที่เก็บพลังพิเศษ และความจดจำเรื่องทั้งหลายมากมายก่ายกอง แต่มันน่าประหลาดที่เราไม่สามารถให้มันสำแดงฤทธิ์ตามใจเราได้ มันจะแสดงพลังของมันออกมาในขณะที่มีเหตุใหญ่ฉันพลันทันด่วน และแสดงออกมาโดยเราเองก็ไม่รู้ตัว จิตแพทย์ได้เพียรใช้จิตสำนึกรักษาโรคจิต อย่างเช่นบางคนอยู่ดี ๆ กลัวและเกลียดคนหน้าดำ เจ้าตัวเองก็บอกไม่ถูกว่าทำไมถึงเกลียด และกลัวอย่างไม่มีเหตุผล จิตแพทย์ต้องใช้วิธีให้จิตใต้สำนึกบอกเรื่องราวแต่หนหลัง ที่ตกตะกอนลงไปอยู่ในจิตแห่งนั้น ก็รู้ได้ว่าเมื่อตอนนั้นยังเล็กอยู่ มีคนหน้าดำคนหนึ่งได้เข้ามาปลุกปล้ำบีบคอเขาในบ้าน แต่เขาจำเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะมันตกไปอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อเขาโตขึ้น มันจึงแสดงอาการออกมาในลักษณะที่เขากลัวและเกลียดคนหน้าดำ นักจิตวิทยากล่าวว่า หากเราหัดพูดกับจิตใต้สำนึกเราก็สามารถสร้างพลังขึ้นในตัวได้ อย่างเช่นเราพูดกับจิตใต้สำนึกว่า คืนนี้เราจะตื่นตีห้า ทำใจให้แน่วแน่ เพ่งอยู่ในการตื่นเวลาตีห้า พอถึงตีห้าจิตใต้สำนึกก็จะปลุกเราเอง ถ้าเราเป็น “คนขลาด” ขี้อายเราพยายามพูดกับจิตใต้สำนึกว่าเราจะไม่ขลาด เราจะไม่ขี้อาย ความขลาด ความขี้อายก็จะหายไปเอง

ที่มา : โรงเรียนวิถีพุทธ

เจาะวิธีเสริมอีคิวแบบ '101s' สร้าง 'วินัยเชิงบวก' ให้ลูก

เจาะวิธีเสริมอีคิวแบบ ‘101s’ สร้าง ‘วินัยเชิงบวก’ ให้ลูก

เจาะวิธีเสริมอีคิวแบบ ‘101s’ ให้ลูก

เชื่อว่าการมี “วินัยที่ดี” เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกบ้านคาดหวังให้เกิดกับลูก การปลูกฝังวินัยส่วนใหญ่ มักใช้วิธีหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ด้วยการตี ดุว่า โดยใช้คำว่า ห้าม อย่า หรือหยุด การสื่อสารด้วยคำพูดในลักษณะนี้ บางครั้งเป็นการระบายความโกรธของพ่อแม่ ซึ่งมีผลอย่างมากในการทำลายความสัมพันธ์ที่ดี และยับยั้งการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของเด็ก ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ในเรื่องนี้ “ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร” หรือ “ครูหม่อม” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 101 Positive Discipline ที่ปรึกษาบริษัท MindMax และผู้ดูแลการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับองค์กรสานใจ กล่าวว่า พ่อแม่ส่วนมาก จะใช้วิธีหยุดพฤติกรรมด้านลบของลูก ด้วยการตี ดุว่า หรือการขู่ด้วยคำพูด เช่น “ห้ามนะ หยุดนะ ถ้าไม่ฟัง แม่ไม่รักแล้วนะ” วิธีเหล่านี้ เป็นการหยุดพฤติกรรมแค่ชั่วคราว และถือเป็นการปิดกั้น หรือยับยั้งนิสัยที่จะสำรวจ และเรียนรู้ของเด็ก

“เด็กทุกคนต้องการความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่น การไปห้ามหรือขู่ลูกมากๆ ลูกก็จะต่อต้าน ทำให้ความสัมพันธ์ขาดหาย เด็กจึงเชื่อฟังพ่อแม่น้อยลง เพราะถ้าเด็กรู้สึกไม่ดีกับใครแล้ว ก็ไม่อยากเชื่อฟัง โดยมีผลวิจัยระบุว่า ถ้าทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี 1 ครั้ง จะต้องใช้ความรู้สึกดีๆ ถึง 10 ครั้ง ถึงจะดึงความรู้สึกดีๆ ของเด็กกลับคืนมา และถามว่าเด็กลืมเรื่องนั้นหรือไม่ เขาไม่ลืมค่ะ” ครูหม่อมกล่าว

ด้าน “ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร” หรือ “ครูใหม่” ผู้เชี่ยวชาญด้านเดียวกัน เผยว่า การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังวินัยเชิงบวก แต่พ่อแม่บางคนลืมใส่ใจในรายละเอียดของคำพูดที่จะทำให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง เช่น ไม่รู้ว่าอารมณ์หงุดหงิดนั้น เรียกว่าอะไร เด็กจึงจัดการไม่เป็น

“สิ่งที่พ่อแม่ควรจะทำตั้งแต่ลูกยังเล็กคือ เวลาลูกโกรธ หรือร้องไห้ ให้สื่อสารกับลูก เช่น “ตอนนี้หนูกำลังโกรธอยู่นะลูก” หรือ “ตอนนี้หนูกำลังง่วงนอน หนูถึงหงุดหงิดแบบนี้ใช่ไหม ไม่เป็นไร คุณแม่เข้าใจ” ซึ่งเป็นการสอนคำศัพท์ทางอารมณ์ให้ลูก ทำให้เด็กฝึกเข้าใจอารมณ์ และควบคุมตัวเองได้ดี” ครูใหม่กล่าว

อย่างไรก็ดี การตี หรือไม่ออกคำสั่งกับลูก จะเป็นการตามใจลูกเกินไปหรือไม่นั้น ครูใหม่ บอกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจอ่อนกับลูกมากนัก

“พ่อแม่ใจดีได้ แต่อย่าใจอ่อน เช่น ลูกอยากไปเล่น แต่การบ้านไม่เสร็จ ถ้าลูกร้องงอแง อย่าพยายามห้ามเด็ก หรือใช้คำว่าถ้า…แล้วตามด้วยไม่ได้ เช่น ถ้าทำไม่เสร็จ ไม่ต้องไปเล่นเลยนะ แต่ควรเปลี่ยนมาพูดว่า ถ้าหนูไม่ทำ หมายถึงหนูเลือกแล้วนะคะ หนูก็ไม่ได้เล่น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องดุลูก แค่บอกให้เขาเลือก เป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบกับทุกอย่างที่ลูกตัดสินใจ ถามว่าเราเหรอที่ไม่ให้เขาเล่น เปล่า เราให้เขาเลือกต่างหาก และลูกจะเชื่อในคำพูดของแม่”

สำหรับวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับเด็ก ทั้งครูหม่อม และครูใหม่ ใช้หลักการ 101s: A Guide to Positive Discipline ของ ดร.แคททาลีน ซี เคอร์ซี่ ผู้อำนวยการการอบรมพัฒนาวิชาชีพเรื่องการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับครูปฐมวัย และผู้นำด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย ในเมืองนอร์ฟอร์ก และเวอร์จิเนียบีช แห่งมลรัฐเวอร์จิเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลักการนี้ ดร.แคททาลีน ได้รวบรวมจากการสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงการศึกษามากกว่า 50 ปี เป็น 101 เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกที่ใช้สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ และการปฏิบัติต่อเด็กด้วยการยอมรับ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก

โดยในปี 2008 ได้ถูกนำมาวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กที่อยู่ในห้องเรียนโดยครูใช้เทคนิคนี้ มีความสามารถทางอารมณ์ สังคม และวิชาการดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ และที่สำคัญ ในปี 2009 ครูหม่อม และครูใหม่ ได้นำมาทำการวิจัยกับเด็กไทยที่โรงเรียนทับทอง ได้ผลวิจัยตรงกัน จึงสะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมไม่ใช่อุปสรรค เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กทุกคนก็ต้องการความรัก ความเข้าใจเหมือนกัน

“การสร้างวินัยเชิงบวก มันอาจไม่เห็นผลในทันที มันจะค่อยๆ พัฒนาไป ดังนั้นต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง แต่ถ้าการไปหยุดด้วยวิธีเดิม เช่นตี ดุว่า คุณก็ต้องตามหยุดไปตลอด และเมื่อลูกโตเขาไม่มาอยู่ให้คุณหยุดแน่นอน” ครูหม่อมฝาก

ครูหม่อม และครูใหม่

5 หลักการสร้าง “วินัยเชิงบวก” ให้ลูก

ทิ้งท้ายนี้ ครูหม่อม และครูใหม่ได้แนะ 5 หลักการจาก 101s: A Guide to Positive Discipline ของ ดร.แคททาลีน ซี เคอร์ซี่ เพื่อเป็นแนวทางปลูกฝังวินัยเชิงบวกให้พ่อแม่นำไปใช้กับลูกง่ายๆ ดังนี้

1. หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ การให้ความสนใจเชิงบวกกับเด็กๆ เวลามีพฤติกรรมที่เหมาะสม แทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ด้วยชมเชย ขอบคุณ กอด แต่การชม ควรเจาะจงพฤติกรรมไปเลย เช่น มังกรเก่งจังเลยที่หนูรอให้คุณแม่พูดจบก่อน แล้วหนูค่อยพูด หรือขอบคุณลูกนะคะที่ตื่นมาไม่ร้องไห้ รู้จักหน้าที่ ช่วยแม่เก็บของ เป็นต้น

2. หลักการให้ทางเลือกเชิงบวก การเสนอทางเลือกที่ยอมรับได้ให้เด็ก 2 ทาง และให้โอกาสให้เด็กตัดสินใจเลือกว่า จะทำตามทางเลือกไหน เช่น จะให้คุณพ่อ หรือ คุณแม่อาบน้ำให้ดีคะ

3. หลักการอะไรก่อน-หลัง การบอกเด็กๆ ให้ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จก่อน แล้วถึงจะอนุญาตให้เด็กทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เช่น เมื่อทานข้าวเสร็จแล้ว ไปเล่นกับเพื่อนได้ค่ะ ไม่ใช่บอกว่า “ถ้าไม่กินข้าว ก็ห้ามไปเล่น”

4. หลักการมองตา การนั่งลดระดับลงมาในระดับสายตาของเด็ก และใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลเวลาพูดคุยกับเด็ก ๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับเด็ก ๆ และทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และเป็นมิตรเวลาที่อยู่กับครู หรือพ่อแม่

5. หลักการกระซิบ การใช้เสียงกระซิบ หรือใช้เสียงเบา ๆ เมื่อต้องการเรียกความสนใจจากเด็ก ๆ และควบคุมให้ห้องเรียนมีความปกติ คุณครูอาจจะพูดเบา ๆ หรือร้องเพลงเบา ๆ ก็ได้ ลดการตะโกน หรือแข่งกับเสียงเด็ก หรือลูกจะเสียงดังมากในรถ ในบ้าน พ่อแม่อาจจะทำเป็นเสียงกระซิบคุยกัน จากนั้นเด็กจะเงียบ เพราะเขาสงสัยละ ว่าพ่อแม่คุยอะไรกัน

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.101thaikids.com / ขอบคุณภาพประกอบจากโรงพยาบาลมนารมย์

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤษภาคม 2553